ตะกร้า
Language:
ปิด
Language:

คำพูดแบบไหนที่ "ไม่ควรพูด" กับลูกน้อย

คุณพ่อ คุณแม่หลาย ๆ ท่าน อาจมีวิธีการเลี้ยงลูกที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันเลยคือความปรารถนาดีและต้องการให้ลูกน้อยเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ แต่บางครั้งคุณพ่อ คุณแม่อาจมีอารมณ์โมโหเมื่อลูกต่อต้านหรือดื้อในบางครั้ง แต่สิ่งที่สำคัญที่คุณพ่อ คุณแม่ควรระวังคือ "คำพูด" โดยเฉพาะกับลูกที่อยู่ในวัยเด็กที่กำลังเรียนรู้และจดจำสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว

ในบทความนี้ Baby Basket ยกตัวอย่างคำพูดแบบไหนที่ไม่ควรพูดกับลูกน้อยกันค่ะ


การตวาด พูดด้วยอารมณ์โมโห และขาดสติส่งผลให้ลูกน้อยเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ และซึมซับสิ่งที่ไม่ดีจากคุณพ่อ คุณแม่ที่อยู่ในอารมณ์นั้น ๆ และทำให้ลูกน้อยกลายเป็นเด็กที่ก้าวร้าวและไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ ดังนั้นเมื่อคุณพ่อ คุณแม่เริ่มรู้สึกโมโหให้ควบคุมอารมณ์ โดยเริ่มจากการหลับตาและสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ และหายใจออกยาว ๆ พยายามทำจิตใจให้สงบ แล้วค่อย ๆ พูดกับลูกน้อย แต่ถ้าไม่ไหวจริง ๆ คุณพ่อ คุณแม่ต้องพาตัวเองออกจากสถานการณ์และปรับอารมณ์ของตัวเองให้เย็นลง

พูดเปรียบเทียบลูกของตัวเองและลูกของคนอื่น โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า "ดูสิ ลูกคนอื่นยังทำได้เลย" การพูดเปรียบเทียบทำให้ลูกรู้สึกกดดัน ทำร้ายจิตใจลูก ทำให้ลูกรู้สึกด้อยค่าและก่อให้เกิดความไม่แน่ใจว่าตัวเองทำได้ไม่ดีพอ ส่งผลให้ลูกรู้สึกด้อยค่าจนไม่กล้าที่จะแสดงออกและไม่มีความมั่นใจในตัวเอง นอกจากนี้ยังอาจส่งผลให้ลูกกลายเป็นคนขี้อิจฉา แสดงความเกลียดชังต่อคนที่ถูกยกมาเปรียบเทียบ หรือบางครั้งลูกน้อยอาจจะแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวออกมา ดังนั้นคุณพ่อ คุณแม่ควรใช้เหตุผลในการสอนลูก และสังเกตว่าลูกถนัดด้านไหน และไม่ถนัดด้านไหน สนับสนุนในสิ่งที่ลูกทำที่เกิดจากความถนัด กล่าวชื่นชมลูกของตัวเองเพื่อให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง จะช่วยให้ลูกรู้สึกมีความมั่นใจและรู้จักแสดงความยินดี กล่าวชมคนอื่น ๆ เมื่อเห็นว่าคนนั้น ๆ ทำได้ดี

คำพูดขู่ที่ว่า "เดี๋ยวไม่รักนะ / เดี๋ยวเอาไปทิ้ง) เป็นคำพูดที่ทำให้ลูกรู้สึกสับสน และเกิดความไม่มั่นใจในตัวเองว่าเป็นที่รักของครอบครัวหรือไม่ ทำให้ลูกเกิดความหวาดระแวง และกลายเป็นเด็กขี้กลัว และสร้างความเชื่อมั่นที่ไม่ถูกต้องว่าการถูกรักต้องแลกมากับเงื่อนไขอื่น ๆ เช่น ต้องเก่งก่อนถึงจะถูกรัก คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล และกล่าวชื่นชมแสดงความรักต่อลูก 

การที่คุณพ่อ คุณแม่พูดในทำนองห้าม เช่น "ไม่ อย่า หยุด" ทำให้ลูกรู้สึกขาดความมั่นใจในตัวเองเพราะกลัวว่าจะทำผิด และไม่กล้าที่จะริเริ่มหรือทำอะไรใหม่ ๆ ซึ่งทำให้ลูกพลาดโอกาสในการเรียนรู้ ควรใช้เหตุผลในการพูดคุยกับลูกว่าทำไมถึงต้องห้าม ในกรณีสิ่งที่ลูกทำนั้นไม่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่ว่าคุณพ่อ คุณแม่ต้องไม่พูดคำพูดเหล่านี้เลย ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์อันตราย หรืออาจจะส่งผลให้ลูกบาดเจ็บก็สามารถพูดได้

 

ดังนั้นการพูดกับลูกควรระมัดระวังคำพูดมากที่สุด เพราะการที่คุณพ่อ คุณแม่พูดออกไปแล้วไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ และอาจจะส่งผลกระทบต่อจิตใจของลูกไปอีกนานแสนนาน จนลูกรู้สึกสูญเสียตัวตนของตนเองและพลาดโอกาสในการเรียนรู้ตามช่วงวัยค่ะ